Sheba imagery

ค้นหา

ใส่คีย์เวิร์ดเพื่อค้นหาบทความหรือสินค้า

วิธีการเลี้ยงแมวให้อ้วนสุขภาพดี

วิธีการเลี้ยงแมวให้อ้วนสุขภาพดี

ทาสแมวทุกคนต่างก็รู้กันดีว่า น้องแมวแต่ละตัวเป็นสิ่งมีชีวิตแสนพิเศษที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสีขน รูปร่าง ขนาด และน้ำหนักตัว! น้ำหนักของแมวนั้นขึ้นอยู่กับอายุและรูปแบบการใช้ชีวิต โดยทั่วไปน้องแมวโตเต็มวัยที่สุขภาพดีควรมีน้ำหนักประมาณ 4 – 4.5 กิโลกรัม แต่หากเป็นแมวพันธุ์ใหญ่อย่างเมนคูนก็อาจมีน้ำหนักตัวมากถึง 11 กิโลกรัม ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่แมวจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตัวของเจ้าเหมียว ไม่ว่าจะกังวลว่าพวกเค้าผอมหรืออ้วนเกินไปไหม และมีน้ำหนักตัวเหมาะสมกับอายุและสายพันธุ์หรือไม่

หากน้องแมวมีภาวะทุพโภชนาการหรือขาดสารอาหาร โดยทั่วไปจะแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักด้วยการเพิ่มปริมาณอาหาร อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นวิธีที่ทำให้น้ำหนักตัวขึ้นได้จริง แต่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำหนักเกินได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในแมว การดูแลเจ้าเหมียวให้มีน้ำหนักเหมาะสมจึงเป็นเรื่องท้าทาย

ในทางกลับกัน หากน้องแมวมีน้ำหนักน้อยเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต น้องแมวอาจมีระดับฮอร์โมนไม่สมดุล มีอาการเหนื่อยล้า หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย นอกจากนี้หากน้องแมวน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว นี่ถือเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น โรคลำไส้อักเสบ การแพ้อาหาร การติดเชื้อ หรือกระทั่งโรคมะเร็ง แต่ไม่ต้องกังวล! คุณสามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ เพียงทำตามคำแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มน้ำหนัก เพื่อให้น้องแมวอ้วนอย่างสุขภาพดี และใช้เทคนิคดี ๆ ในการเลี้ยงแมวบ้านให้อ้วนที่เรานำมาฝาก

มาเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเรื่องน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ และเรียนรู้วิธีดูแลให้น้องแมวมีน้ำหนักที่เหมาะสมกัน

สาเหตุที่น้องแมวน้ำหนักลดลง

  • ปรสิต

    น้ำหนักลดจากผลกระทบของปรสิตในลำไส้เป็นปัญหาที่พบบ่อยในแมว ปรสิตเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างคล้ายหนอน น้องแมวมักจะติดเชื้อปรสิตผ่านทางปากหรือทางผิวหนัง ซึ่งพยาธิตัวกลม อย่าง Toxascaris Leonina และ Toxocara Cati เป็นหนอนพยาธิที่พบได้บ่อยที่สุดในลำไส้ของแมว เจ้าปรสิตตัวร้ายเหล่านี้ทำให้น้องแมวกว่า 25 – 75% มีอาการท้องเสีย ท้องอืด และอาเจียน โดยน้องแมวส่วนใหญ่จะได้รับปรสิตจากสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อน และลูกแมวก็อาจได้รับปรสิตผ่านการให้นมจากแม่แมวที่มีพยาธิอยู่ในตัว หากสงสัยว่าเจ้าตัวน้อยของคุณมีพยาธิ ควรไปพบสัตวแพทย์ทันที คุณหมออาจแนะนำให้ถ่ายพยาธิเป็นประจำ เพื่อให้น้องแมวกลับมามีสุขภาพแข็งแรงอีกครั้ง และอาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงแมวเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเค้ากลับมามีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

  • โรคไต

    ไตเป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญมาก ตั้งแต่การควบคุมความดันโลหิต ปรับสมดุลฮอร์โมน ไปจนถึงกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในกระดูก ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับไตอาจส่งผลให้น้องแมวน้ำหนักลดลงได้ โดยภาวะไตวายเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ ไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการกินสารพิษ เช่น ช็อกโกแลต และไตวายเรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่พบในน้องแมวที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป การตรวจหาโรคไตทำได้โดยการตรวจเลือดและปัสสาวะ หากพบว่าน้องแมวน้ำหนักลดลงผิดปกติ อาจถึงเวลาที่ต้องพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจเช็กปัญหาเกี่ยวกับไตแล้ว สำหรับการรักษาโรคไตในแมว สัตวแพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนสูตรอาหาร ให้ยา และรับสารน้ำ วิธีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้น้องแมวอ้วนขึ้นได้

  • ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์

    เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้น้องแมวน้ำหนักลดลงได้ ซึ่งเป็นผลจากต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินความต้องการ ทำให้น้องแมวอยากอาหารมากขึ้นแต่น้ำหนักตัวกลับลดลง โดยอาการทั่วไปของโรคที่พบได้คือ น้องแมวมีอาการท้องเสีย อยู่ไม่นิ่ง อาเจียน ปัสสาวะบ่อยขึ้น และกินน้ำถี่ขึ้น ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์มักนำไปสู่โรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ทางที่ดีควรปรึกษาสัตว์แพทย์ทันทีเมื่อพบอาการผิดปกติ

  • โรคเบาหวาน

    โรคเบาหวานก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวลดลง หากน้องแมวป่วยเป็นเบาหวาน ร่างกายของพวกเค้าจะหยุดผลิตอินซูลินหรือไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ซึ่งนำไปสู่การสะสมของน้ำตาลกลูโคสจำนวนมาก นอกจากนี้การขาดอินซูลิน ยังทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงต้องนำไขมันและกล้ามเนื้อมาใช้สร้างพลังงานแทน ทำให้น้ำหนักตัวของพวกเค้าลดลง โดยอาการสำคัญของโรคเบาหวานคือปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำมากขึ้น ทั้งนี้โรคเบาหวานอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงในอนาคต จึงควรพาเจ้าตัวน้อยไปตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ

  • ปัญหาในระบบทางเดินอาหาร

    สาเหตุที่น้องแมวน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากปัญหาในระบบทางเดินอาหาร โดยปัญหาที่พบบ่อยในแมว ได้แก่ การแพ้อาหาร การติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต และโรคลำไส้อักเสบ น้องแมวที่มีปัญหาในระบบทางเดินอาหารมักจะมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย และอาหารไม่ย่อย เนื่องจากไม่สามารถผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารตามธรรมชาติในร่างกายได้ ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็น น้ำหนักตัวจึงลดลงตามไปด้วย

  • อาการปวดเรื้อรัง

    อาการปวดเรื้อรังมักนำไปสู่ปัญหาน้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ เพราะอาการเหล่านี้อาจทำให้น้องแมวเครียดและเบื่ออาหาร โดยพวกเค้าอาจหลีกเลี่ยงการกินอาหารจนทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาปวดฟันเรื้อรังก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้องแมวไม่ยอมกินน้ำกินอาหารแม้จะรู้สึกหิวก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลให้ร่างกายของพวกเค้าขาดสารอาหารและน้ำหนักลด ทั้งนี้อาการปวดเรื้อรังมักเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญในทันที

  • ภาวะซึมเศร้าหรือความเครียด

    แม้ว่าน้องแมวจะมีนิสัยสบาย ๆ ดูมั่นอกมั่นใจเป็นที่สุด แต่พวกเค้าก็มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าและความเครียดได้เช่นกัน น้องแมวไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงกะทันหันอย่างการย้ายบ้าน และมักจะใช้เวลาปรับตัวให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ค่อนข้างนาน ซึ่งในขณะที่กำลังปรับตัวอยู่นั้น พวกเค้าจะเครียดได้ง่ายมาก หรืออาจถึงขั้นมีภาวะซึมเศร้าเลย ผลจากภาวะเหล่านี้ ทำให้น้องแมวมีพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป และอาจน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว หากสังเกตเห็นสัญญาณเตือนของภาวะซึมเศร้าและความเครียดในแมว ก็อย่าลืมมอบความรักและความเอาใจใส่เพื่อช่วยให้พวกเค้ารู้สึกดีขึ้น

วิธีตรวจสอบรูปร่างของน้องแมว

  • คะแนนร่างกาย

    การให้คะแนนร่างกาย (Body Condition Score – BCS) เป็นแนวคิดที่ออกแบบมาเพื่อพิจารณาว่าน้องแมวมีน้ำหนักน้อย น้ำหนักปกติ หรือน้ำหนักเกิน โดยใช้วิธีการให้คะแนนระหว่าง 1 ถึง 9 ตามลักษณะรูปร่างของน้องแมว หากน้องแมวได้คะแนน 1 ถึง 3 จะถือว่ามีน้ำหนักน้อย คะแนนระหว่าง 4 ถึง 6 บ่งชี้ว่าน้องแมวมีน้ำหนักที่เหมาะสม แต่หากมีคะแนนเกิน 6 จะถือว่าน้องแมวมีน้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อโรคอ้วน

  • การสัมผัสด้วยมือ

    การสัมผัสด้วยมือเป็นวิธีที่นิยมใช้เพื่อระบุว่าน้องแมวมีรูปร่างสมส่วนหรือไม่ โดยสามารถใช้นิ้วคลำกระดูกซี่โครงบริเวณด้านหลังขาหน้าของน้องแมว หากคลำแล้วพบว่าสัมผัสคล้าย ๆ กับหลังมือของคน แสดงว่าน้องแมวมีรูปร่างดีสมส่วน แต่ถ้าคลำแล้วสัมผัสได้ถึงกระดูกอย่างชัดเจนราวกับเป็นข้อนิ้ว แสดงว่าน้องแมวผอมเกินไป กรณีที่คลำไม่พบกระดูกหรือคลำพบได้ยากต้องออกแรงกดจึงจะรู้สึกถึงกระดูก แสดงว่าน้องแมวมีภาวะน้ำหนักเกิน

  • การสังเกตด้วยตา

    การตรวจสอบด้วยสายตาเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการประเมินน้ำหนักและรูปร่างของน้องแมว คุณสามารถสังเกตได้จากรอบเอวของพวกเค้าโดยมองจากด้านบน หากเห็นเอวระหว่างซี่โครงและส่วนหลัง แสดงว่าน้องแมวมีน้ำหนักที่เหมาะสม หากเห็นเอวคอดได้อย่างชัดเจน น้องแมวอาจมีน้ำหนักน้อยเกินไป แต่หากไม่เห็นส่วนเว้าเลย นั่นแปลว่าน้องแมวของคุณอ้วนเกินไปแล้ว

แมวงง

น้องแมวของคุณเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหรือไม่?

  • ความอยากอาหารลดลง

    ความอยากอาหารลดลงเป็นหนึ่งในอาการของความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าที่พบได้บ่อย น้องแมวอาจมีท่าทางเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีพฤติกรรมการกินที่ต่างจากเดิม น้องแมวที่เครียดจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา พวกเค้าจะไม่สนใจกินอาหารหรือน้ำ นอกจากนี้ภาวะซึมเศร้ายังส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร โดยน้องแมวอาจมีอาการคลื่นไส้และปวดท้อง เป็นผลให้ความอยากอาหารลดลง

  • หลีกเลี่ยงการถูกสัมผัส

    แม้ว่าน้องแมวจะรักอิสระและมีความหวงตัว แต่สำหรับทาสแมวคนโปรดนั้นถือเป็นข้อยกเว้น พวกเค้ามักจะเรียกร้องความสนใจหรือแสดงความรักให้เจ้าของรับรู้อยู่เสมอ หากพบว่าเจ้าตัวน้อยเริ่มเก็บตัวและหลีกเลี่ยงการถูกสัมผัส นี่อาจเป็นเพราะความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า

  • นอนหลับนานขึ้น

    ภาวะซึมเศร้าและความเครียดสามารถบั่นทอนความสดใสและพลังงานได้ น้องแมวจะรู้สึกเหนื่อยล้า และมักจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เซื่องซึม และมีอาการคลื่นไส้ เพื่อเอาชนะความอ่อนล้าทางร่างกายหรือเพื่อรักษาพลังงานเอาไว้ เจ้าตัวน้อยอาจนอนหลับนานกว่าปกติ

  • การขับถ่ายเปลี่ยนไป

    เนื่องจากภาวะซึมเศร้าและความเครียดมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบทางเดินอาหาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะการขับถ่ายจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย โดยน้องแมวที่เครียดหรือวิตกกังวล อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย อาเจียนบ่อย และท้องเสีย

  • เก็บตัวหรือซ่อนตัว

    น้องแมวไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน มันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเค้ารู้สึกเครียดและวิตกกังวล ในขณะที่พวกเค้ากำลังปรับตัวให้คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงนั้น คุณอาจสังเกตพบว่าพฤติกรรมของพวกเค้าแปลกไป อาจจะพยายามซ่อนตัวหรือหนีเข้าไปอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ เพราะอาการซึมเศร้าทำให้พวกเค้าตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จึงต้องการหลบซ่อนเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย

  • อ่อนเพลีย

    น้องแมวที่มีภาวะเครียดหรือซึมเศร้ามักจะไม่ยอมกินอาหาร ซึ่งนำไปสู่อาการคลื่นไส้และอ่อนแรง ยิ่งไปกว่านั้น ความวิตกกังวลยังทำให้น้องแมวรู้สึกอ่อนเพลีย จึงไม่ค่อยเล่นหรือทำกิจกรรม หากพบว่าน้องแมวนอนบ่อยขึ้น ไม่เล่น ไม่ค่อยขยับตัว พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากภาวะซึมเศร้า แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อดูแลให้พวกเค้ากลับมาแข็งแรง และกลายเป็นเจ้าแมวอ้วนที่มีสุขภาพดีดังเดิม

วิธีเพิ่มน้ำหนักให้น้องแมวอย่างเหมาะสม

  • เพิ่มจำนวนมื้ออาหารต่อวัน

    วิธีการเลี้ยงแมวให้มีน้ำหนักเหมาะสมทำอย่างไรได้บ้าง?การให้อาหารเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มน้ำหนักให้เจ้าเหมียวอย่างไม่ต้องสงสัย โดยคุณสามารถเพิ่มจำนวนมื้ออาหารต่อวัน และอาจให้อาหารแมวหลากหลายรสชาติเพื่อเอาใจเหล่าน้องแมวของเรา

  • แยกชามอาหารสำหรับแมวแต่ละตัว

    หากมีแมวเหมียวหลายตัวในบ้าน ควรแยกชามอาหารของใครของมัน เนื่องจากเจ้าเหมียวอาจทะเลาะกันเพื่อแย่งอาหาร การแยกชามจะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าแมวเหมียวทุกตัวจะได้กินอาหารเท่ากัน นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอีกด้วย

  • วางชามอาหารในมุมที่เข้าถึงง่าย

    สถานที่วางชามอาหารก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของเจ้าเหมียวเช่นกัน การเลือกมุมที่เข้าถึงยากอาจเป็นสาเหตุให้เจ้าตัวน้อยน้ำหนักลดลง แมวมีนิสัยรักสะอาดและช่างเลือก หากคุณวางชามอาหารไว้ใกล้กระบะทราย พวกเค้าอาจรู้สึกไม่สบายใจและไม่อยากกินอาหาร จึงควรวางชามอาหารในพื้นที่ที่สะอาด เปิดโล่ง และเข้าถึงได้ง่าย

  • ให้อาหารแบบผสม.

    น้องแมวมักจะจู้จี้จุกจิกกับการกินมากเป็นพิเศษ หากพวกเค้าไม่ยอมกินอาหารเม็ด แนะนำให้ผสมอาหารเม็ดเข้ากับอาหารเปียกแสนอร่อยเพื่อดึงดูดใจให้อยากกินมากยิ่งขึ้น นอกจากการให้อาหารแบบผสมจะช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวได้แล้ว ยังช่วยให้น้องแมวได้รับสารอาหารและน้ำเพียงพอต่อความต้องการด้วย

  • อุ่นอาหารก่อนเสิร์ฟ

    เพียงแค่อุ่นอาหารเปียกก่อนเสิร์ฟ ก็ทำให้เจ้าเหมียวอยากกินอาหารเพิ่มขึ้นได้ การอุ่นอาหารจะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมเย้ายวนใจ ทำให้อาหารน่ากินมากยิ่งขึ้น แม้จะมีขั้นตอนวุ่นวายมากกว่าปกติ แต่วิธีนี้ก็ช่วยเพิ่มน้ำหนักให้เจ้าเหมียวได้เป็นอย่างดี

  • ป้อนอาหารด้วยมือ

    ความเครียดและภาวะซึมเศร้าเป็นสาเหตุของอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลด อย่างไรก็ตาม น้องแมวต้องการสารอาหารและน้ำที่เพียงพอเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี การป้อนอาหารจะช่วยให้พวกเค้ากินได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นวิธีแสดงความรักที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย

  • ให้อาหารเสริม

    หากน้ำหนักลดลงมาก อาจต้องให้อาหารเสริมเพิ่มเติม แต่ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนที่จะให้อาหารเสริมใด ๆ กับน้องแมว เนื่องจากอาหารเสริมเพิ่มน้ำหนักมักมีแคลอรี่สูงและมีความเข้มข้นมาก จึงทำให้อ้วนได้ง่ายหากให้ปริมาณมากเกินกำหนด

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเพิ่มน้ำหนักให้น้องแมว

  • ควรให้อาหารน้องแมวน้ำหนักตัวน้อยอย่างไร?

    วิธีการเลี้ยงแมวให้อ้วนสุขภาพดีเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของทุกคนควรรู้ โดยการเพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละวันหรือเพิ่มจำนวนมื้ออาหารจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้เจ้าเหมียวได้ แต่หากน้ำหนักลดลงอย่างมาก สัตวแพทย์อาจแนะนำให้กินอาหารเสริมเพิ่มเติม

  • ทำไมน้องแมวกินเยอะแต่น้ำหนักไม่ขึ้น?

    ปัญหานี้อาจเกิดจากภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ ซึ่งเป็นผลจากต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ทำให้น้องแมวอยากอาหารมากขึ้น แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และคลื่นไส้ได้ด้วยเช่นกัน น้องแมวจึงมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือไม่ขึ้นเลย

  • ยากระตุ้นความอยากอาหารคืออะไร?

    เจ้าของส่วนใหญ่อาจสงสัยว่าวิธีการเลี้ยงแมวให้มีน้ำหนักเหมาะสม มีวิธีการอย่างไรบ้าง การให้ยากระตุ้นความอยากอาหารก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักและทำให้น้องแมวกินอาหารได้มากขึ้น ทั้งนี้ควรให้ยาตามที่สัตวแพทย์แนะนำเท่านั้น

  • น้องแมวจะรู้สึกเบื่อเมื่อต้องกินแต่อาหารเดิม ๆ หรือไม่?

    น้องแมวอาจรู้สึกเบื่อและไม่อยากอาหารหากได้กินแต่อาหารเดิม ๆ เพื่อเพิ่มความพิเศษให้ทุกมื้ออาหาร ขอแนะนำชีบา® อาหารแมวแบบเปียกเกรดพรีเมียมที่มีเนื้อสัมผัสและรสชาติหลากหลาย มีให้เลือกทั้งรสทูน่า แซลมอน เนื้อวัว และกุ้ง

  • อาหารอะไรบ้างที่ช่วยให้น้องแมวน้ำหนักขึ้น?

    น้องแมวต้องการอาหารแคลอรี่สูงเพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนัก นอกจากการเพิ่มปริมาณอาหาร คุณอาจให้ขนมแมวระหว่างวันด้วยก็ได้ เพราะมีปริมาณแคลอรี่สูงเช่นกัน อีกทั้งคุณยังสามารถปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับอาหารเสริมที่มีแคลอรี่สูงได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ซื้อ ชีบา® ออนไลน์

คลิกเพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากรายชื่อร้านค้าด้านล่างนี้

ซื้อ ชีบา® ออนไลน์product

คลิกเพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากรายชื่อร้านค้าด้านล่างนี้